ต้อหิน
เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงต่างๆในชีวิตก็เริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เนื่องจากอวัยวะต่างๆ มีชั่วโมงการใช้งานมานานตั้งแต่แรกเกิดก็ย่อมจะสึกโรย จึงต้องบำรุงและซ่อมแซมเพื่อให้สมรรถนะการทำงานเป็นไปได้อย่างปกติ
วันนี้ อาวุโส โซไซตี้ จะพามาทำความรู้จักกับโรคสุดฮิตของรุ่นใหญ่กันอีกโรคหนึ่งค่ะ นั่นก็คือ ‘ต้อหิน’
ต้อหินเป็นโรคที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสการมองเห็น ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีการเสื่อมของขั้วประสาทตาและเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตาบอดที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดต้อหิน ได้แก่ ความดันตาที่สูงผิดปกตินั่นเอง
กลไกการเกิดต้อหิน
ในลูกตาส่วนหน้ามีการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (aqueous humor) ซึ่งถูกสร้างจากอวัยวะภายในลูกตาที่เรียกว่า ciliary body ไหลเวียนผ่านช่องระหว่างม่านตาและเลนส์ตาสู่ช่องหน้าลูกตา และไหลเวียนออกจากลูกตาทาง trabecular meshwork (ทางระบายออกของน้ำในลูกตาอยู่ที่มุมตา มีลักษณะเป็นตะแกรง) ซึ่งในโรคต้อหินจะมีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นและเกิดการทำลายประสาทตาตามมา
ปัจจัยเสี่ยงของต้อหิน
• เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาวถึง 6-8 เท่า ส่วนคนเชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิด
• อายุมากกว่า 40 ปี
• มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
• ตรวจพบความดันตาสูง
• เคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
• การใช้ยาสเตียรอยด์
• ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง โรคเบาหวาน ไมเกรน
อาการของโรคต้อหิน
อาการต้อหิน แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ
อาการต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma) มีอาการ 3 อย่างที่พบ คือ
-ปวดตา (ส่วนใหญ่จะปวดศีรษะข้างเดียวกันร่วมด้วย และอาจร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน)
-ตาแดง น้ำตาไหล
-ตามัว การมองเห็นลดลง มองเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ (ซึ่งอาจทำให้ตาบอดตามมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วันหากรักษาไม่ทัน)
อาการตามัวส่วนใหญ่มักจะมัวมากจนถึงขั้นมองเห็นหน้าคนไม่ชัด อาการปวดตามาก ปวดจนอาเจียน ซึ่งความรุนแรงของอาการหลักทั้ง 3 อย่างจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ส่วนมากจะเป็นค่อนข้างมาก
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว มองเห็นแสงสีรุ้งเป็นพัก ๆ นำมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนได้ ซึ่งมักจะเป็นช่วงหัวค่ำ หรือเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด หรือเมื่ออยู่ในที่มืด หรือในขณะที่กำลังมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิดกังวล เพราะจะมีเลือดไปคั่งที่ม่านตา มุมระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาที่แคบอยู่แล้วก็จะยิ่งแคบลงไปอีก พอนอนพักหรือเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 ชั่วโมงอาการเหล่านี้ก็จะบรรเทาลงได้เอง
- ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินเฉียบพลัน มักจะมีอาการที่ตาเพียงข้างเดียว แต่ตาอีกข้างหนึ่งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินเฉียบพลันได้เช่นกัน
- ตาอาจบอดได้ในเวลา 1-2 สัปดาห์ นอกจากจะตาบอดแล้วยังอาจทรมานจากการมีอาการตาแดง ปวดตา และปวดศีรษะอยู่ตลอดเวลาด้วย
อาการต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
การมองเห็นของคนที่เป็นโรคต้อหินเรื้อรังนั้น อาจจะต้องสังเกตกันให้ดีสักหน่อย เนื่องจาก ตาจะค่อยๆ มัวลงทีละน้อย ๆ โดยกินเวลานานแรมปี
ในระยะแรกนั้น ผู้สูงอายุ อาจมักจะไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เพราะไม่มีอาการปวดตา ตาไม่แดง (เพราะกลุ่มนี้ความดันลูกตามักจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นทีละน้อย ไม่พรวดพราดเหมือนต้อหินเฉียบพลัน จึงไม่ทำให้มีอาการปวดตา และอาจเข้าใจผิดคิดว่าตนเองเป็นสายตาเสื่อมตามอายุซึ่งรักษาไม่ได้ หรือคิดว่าเป็นต้อกระจกซึ่งต้องรอให้ต้อแก่ก่อนแล้วค่อยรับการรักษา)
แต่บางท่านอาจรู้สึกมึนศีรษะได้เล็กน้อย อาจรู้สึกว่าเวลาอ่านหนังสือแล้วจะปวดเมื่อยตาเล็กน้อยหรือตาล้า ตาเพลีย และตาพร่าเร็วกว่าปกติ ต่อมาผู้ป่วยจะมีลานสายตาแคบลงกว่าเดิมมาก จึงทำให้มองไม่เห็นด้านข้าง อาจขับรถลำบาก เพราะมองไม่เห็นรถที่อยู่ทางด้านซ้ายและขวา หรือมองไม่เห็นรถที่กำลังจะแซง รถที่สวนมา หรือเวลาเดินอยู่ในบ้านก็อาจเดินชนขอบโต๊ะขอบเตียงได้
• ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดเรื้อรังมักจะมีอาการกับตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน
• ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่าตามัวลงเรื่อย ๆ จึงต้องคอยเปลี่ยนแว่นอยู่บ่อย ๆ
• การดำเนินโรคจากเริ่มเป็นจนถึงการสูญเสียการมองเห็นจะใช้เวลานานเป็นปี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต้อหินเรื้อรังที่เกิดจากการเสื่อมที่ไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี หรือ “บอดผ่อนส่ง” ส่วนจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบในระยะใด
ถ้าตรวจพบตั้งแต่เริ่มเป็นก็จะสามารถควบคุมไว้ได้ แต่ถ้าตรวจพบระยะที่เป็นมากแล้วหรือระยะท้าย ๆ คนกลุ่มนี้อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจจะเป็นเดือนก็ทำให้ตาบอดแล้ว
• หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้าหรือรักษาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ตาบอดได้ แต่ถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่แรกก็มักจะรักษาสายตาที่เหลือเอาไว้ได้ กล่าวคือ การรักษาจะเป็นเพียงการช่วยชะลอไม่ให้สายตาที่เหลือเลวลง ส่วนสายตาที่เสียไปจะไม่กลับคืนมาได้เป็นปกติ
และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าแพทย์ให้การรักษาไม่ดีและเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็เลิกตรวจและรับการรักษาไปในที่สุด ส่งผลให้สายตาที่เหลืออยู่ลดลงเรื่อย ๆ จนบอดไปในที่สุด
• ผู้ป่วยที่ตาบอดจากต้อหินเรื้อรังส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปวดตาเลย เรียกกันว่า “ตาบอดตาใส” แต่ผู้ป่วยบางรายก็ยังอาจมีอาการเจ็บปวดเคืองตาอยู่ตลอดเวลา ยังความทรมานแก่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก
การรักษาต้อหิน
เนื่องจากโรคต้อหินเส้นประสาทตาจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคองเพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้นและเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
• การรักษาด้วยยา มีเป้าหมายในการรักษาเพื่อลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น ในปัจจุบันยารักษาต้อหินมีหลายกลุ่ม ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาหรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา
• การใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค
◦ Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก มักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ
◦ Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด
◦ Argon laser peripheral iridoplasty (ALPI) ใช้ร่วมกับ LPI หรือในกรณีไม่สามารถใช้ LPI รักษาได้
◦ Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล
• การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้
◦ Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาใหม่เพื่อลดความดันตา
◦ Aqueous shunt surgery กรณีที่ผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล อาจทำการผ่าตัดด้วยการใส่ท่อระบายเพื่อลดความดันตา
ขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์จักษุ รพ.บำรุงราษฎร์
#อาวุโสโซไซตี้ #คนสูงอายุ #สูงวัย #สุขภาพคนสูงอายุ #อาวุโส
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: www.awusosociety.com