ทำความรู้จักกับโรคเก๊าท์
"กินไก่มากๆ ระวังเป็นโรคเก๊าท์" ประโยคบอกเล่าที่สูงวัยหลายท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้าง ถึงอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับโรคเก๊าท์ ว่ามีสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันรวมถึงการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคนี้มาฝากกันค่ะ
โรคเก๊าท์คืออะไร
โรคเก๊าท์ (Gout) หนึ่งในโรคกระดูกและข้อ ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกกว่า 40 ปีขึ้นไป และหญิงในวัยหลังหมดประจำเดือน เกิดจากภาวะที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน มีสาเหตุมาจากการกินโปรตีนบางชนิดมากเกินไป ซึ่งโปรตีนดังกล่าวจะย่อยสลายเป็นกรดยูริก (Uric acid) ไปตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้ออักเสบเฉียบพลัน
กรดยูริกคืออะไร
กรดยูริก เกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายตามขบวนการเมตะบอลิสซั่ม ประมาณร้อยละ 80 และมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ร้อยละ 20 กรดยูริกนี้จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ประมาณร้อยละ 67 และทางอุจจาระประมาณร้อยละ 33 การที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารที่มีสาร “พิวรีน”สูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ
ซึ่งสารพิวรีนพบมากในเนื้อสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ พืชผักยอดอ่อน ในคนปกติทั่วไปถึงแม้ว่า จะได้รับสารพิวรีนมากหรือร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมาก แต่ไตของเราก็สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกมาได้ ร่างกายจึงรักษาสมดุลของกรดยูริกไว้ได้ แต่สำหรับคนที่มีความบกพร่องหรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ จึงเกิดการตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้เป็นโรคเก๊าท์นั่นเอง
อาการ
ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์จะมีอาการข้ออักเสบในระยะแรกมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ จะมีการอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน จากระยะเริ่มปวดจนอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนมากจะเกิดขึ้นทีละ 1 ข้อ ข้อที่พบบ่อย ได้แก่ โคนนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อกลางเท้า ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ข้อกลางมือ ข้อมือ ข้อศอก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง จำนวนข้อที่อักเสบจะเพิ่มขึ้น เริ่มพบที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก การอักเสบรุนแรงขึ้น เป็นถี่ขึ้นและนานขึ้น จนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง
การป้องกันและดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคเก๊าท์
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเน้นรับประทานโปรตีนจากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงฟรุกโตสซึ่งพบมากในน้ำอัดลม นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน ไม่ควรลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพราะอาจเป็นการเพิ่มระดับของกรดยูริกได้ รวมถึงดื่มน้ำให้มากเพื่อขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดเฉียบพลันให้พักการใช้ข้อที่อักเสบ แล้วใช้วิธีประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการ
สิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเก๊าท์คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ด้วยการไม่รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรรับประทานอาหารประเภทข้าว-แป้งให้มากพอ (โดยทั่วไปวันละ 8-12 ทัพพี) เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องเผาผลาญโปรตีนที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นพลังงาน เพราะการเผาผลาญโปรตีนลักษณะนี้จะส่งผลทำให้มีการสลายกรดยูริกออกมาในกระแสเลือดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามถึงแม้กรดยูริกจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่ถ้าผู้สูงอายุรู้จักควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ รวมถึงหมั่นเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุค่ะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: