ทุกคนย่อมมีหน้าที่ของตัวเองนะครับ ขนาดผิวหนังของเราก็ยังมีหน้าที่ของมันเลย หน้าที่ของผิวหนัง คือ ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับร่างกายไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย การป้องกันการติดเชื้อไวรัส หรือการป้องกันการระคายเคือง นอกจากนี้นะครับ ผิวหนังยังทำหน้าที่ในการควบคุมการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายอีกด้วย แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้น ผิวหนังก็จะทำหน้าที่ได้น้อยลง โอกาสที่เกิดจะการระคายเคือง ก็จะมีมากขึ้นครับ
ถ้าให้เราลองนึกถึงสิ่งที่ผิวหนังต้องสัมผัสกันทุกวัน (บางคนอาจจะต้องใช้คำว่า....เกือบทุกวัน) คงมีคนนึกถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเส้นผม เช่น แชมพู สบู่เหลว.....ซึ่ง....ถูกต้องนะครับ ผลิตภัณฑ์พวกนี้จะใส่สารลดแรงตึงผิว (surfactants) เป็นส่วนประกอบ การที่เรารู้เรื่องของสารลดแรงตึงผิว จะทำให้เราเลือก สบู่ แชมพู ที่เหมาะกับสภาพผิวของเราได้ครับ
เรามาเริ่มรู้จักสารลดแรงตึงผิวกันดีกว่าครับ
โมเลกุลของสารลดแรงตึงผิวจะมีส่วนที่ชอบน้ำ กับ ส่วนที่ไม่ชอบน้ำครับ ให้เราลองนึกถึง “ถั่วงอก” ส่วนหัวถั่วงอกจะเป็นส่วนที่ชอบน้ำ ส่วนหางถั่วงอกจะเป็นส่วนที่ไม่ชอบน้ำ(ชอบไขมัน) ส่วนหางถั่วงอกที่ไม่ชอบน้ำ(ชอบไขมัน)จะไปเกาะกับไขมัน หรือสิ่งสกปรกตามผิวหนังหรือเส้นผม ส่วนหัวถั่วงอกที่ชอบน้ำมันจะหันไปสัมผัสกับโมเลกุลของน้ำ เกิดการจัดเรียงตัวเป็นทรงกลม โดยไขมันหรือสิ่งสกปรกจะอยู่บริเวณแกนกลาง ส่วนหัวที่ชอบน้ำจะอยู่ด้านนอก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีสารลดแรงตึงผิวจึงชะล้างสิ่งสกปรกได้นั้นเอง
สารลดแรงตึงผิวถ้าแบ่งคราวๆจะมีแบบที่มีประจุกับแบบที่ไม่มีประจุ สารลดแรงตึงผิวแบบที่มีประจุก็สามารถแบ่งแยกย่อยได้อีกเป็นแบบที่มีประจุลบ แบบที่มีประจุบวกและแบบที่มีทั้งประจุบวกกับประจุลบ
สารลดแรงตึงผิวแบบที่มีประจุลบ
มีอำนาจในการชะล้างที่ดี แต่การใช้ในความเข้มข้นสูงๆ อาจทำให้ผิวแห้งได้ สารในกลุ่มนี้ เช่น sodium lauryl sulfate (SLS) sodium laureth sulphate (SLES )
สารลดแรงตึงผิวแบบที่มีประจุบวก
มักพบในผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน และครีมนวดผม แต่ก็มีการนำไปใช้ทำความสะอาดแผลเปิด และแผลไฟไหม้ สารลดแรงตึงผิวกลุ่มนี้มักใช้เป็นสารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์มากกว่าใช้เป็นสารลดแรงตึงผิวในตำรับเครื่องสำอาง
สารลดแรงตึงผิวแบบที่มีทั้งประจุบวกกับประจุลบ
นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในสบู่และแชมพูสำหรับเด็ก เช่น sodium lauroamphoacetate
สารลดแรงตึงผิวแบบที่ไม่มีประจุ
ได้แก่ polysorbate 20, polysorbate 80 ให้ฟองน้อย ข้อดีคือ สารกลุ่มนี้มีความเป็นพิษต่ำ มีอำนาจในการชำระล้างสูง ให้ความอ่อนโยนต่อผิวหนังและเส้นผม แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพงมากที่สุด
ถ้าลองเรียงลำดับความแรงของสารลดแรงตึงผิวในการทำความสะอาดผิวหนังหรือเส้นผม
อันดับ 1. คือ สารลดแรงตึงผิวที่มีประจุลบ
อันดับ 2. คือ สารลดแรงตึงผิวแบบที่มีทั้งประจุบวกและประจุลบและ
อันดับ 3. คือ สารลดแรงตึงผิวแบบที่ไม่มีประจุ ส่วนสารลดแรงตึงผิวแบบที่มีประจุบวกจะใช้ในพวกยามากกว่า จึงไม่จัดลำดับ
จากที่กล่าวมาสารลดแรงตึงผิวแบบที่มีประจุลบจะมีความสามารถในการทำความสะอาดผิวหนังหรือเส้นผมได้ดี แต่ไม่อ่อนโยน สำหรับผลิตภัณฑ์เด็กหรือผิวแพ้ง่าย อาจต้องหลีกเลี่ยงสารลดแรงตึงผิวหลัก ได้แก่ SLES และ SLS สารลดแรงตึงผิวแบบที่มีทั้งประจุบวกกับประจุลบกับ สารลดแรงตึงผิวแบบที่ไม่มีประจุจะอ่อนโยนกว่า
อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเส้นผม/
#อาวุโสโซไซตี้
#เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง