ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นโรคเข่าเสื่อม
เมื่อเกิดอาการเข่าลั่น มีเสียงดัง “ก๊อกแก๊ก” ขณะที่มีการเหยียดงอหัวเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่น่อง ร่วมกับอาการปวดเข่า บวมแดง เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลา อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่ารุ่นใหญ่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม
วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับอาการ สาเหตุ และวิธีการดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าว มาฝากกันค่ะ
โรคเข่าเสื่อมคือ?
โรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ
อาการเข่าเสื่อม
เมื่อผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมบางอย่าง จะทำให้มีอาการเจ็บปวดและรู้สึกฝืดที่ข้อเข่า เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก รวมถึงเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวนาน ๆ ก็อาจทำให้เจ็บปวดและรู้สึกฝืดขัดที่ข้อเข่าได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ของเข่าเสื่อม ได้แก่เมื่อต้องเคลื่อนไหวจะมีเสียงลั่นในข้อ และรู้สึกเจ็บเมื่อกดบริเวณข้อเข่า
ส่งผลให้ข้อเข่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่ เสียความยืดหยุ่น ข้อติดหรือขยับได้ยาก มักจะเกิดขึ้นเวลาเช้าหรือต้องนั่งเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความยากลำบากเวลาเดิน ขึ้นบันได หรือลุกจากเก้าอี้
สาเหตุของเข่าเสื่อม
สาเหตุของเข่าเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ปกป้องส่วนปลายกระดูกข้อต่อเสื่อมลง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคดังกล่าวคือ
1.อายุ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น จะมีความเสี่ยงในการเกิดเข่าเสื่อมมากขึ้นด้วย
2.เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป แต่ในกรณีนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
3.ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจทำให้ข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเข่าต้องรับน้ำหนัก 3-4 เท่าต่อน้ำหนักตัว ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้เข่าเสื่อมได้เมื่อเวลาผ่านไป
4.กรรมพันธุ์ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ บางรายจะพบว่ามีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคเข่าเสื่อม
ดูแลตัวอย่างไร เมื่อมีอาการเข่าเสื่อม
1.การปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อไม่ให้ข้อเสื่อมมากขึ้นและยืดอายุการใช้งานของข้อให้ยาวนานที่สุด ได้แก่ ควรนั่งบนเก้าอี้ ที่มีรองแขนเพื่อช่วยในการพยุงตัวในขณะลุกขึ้นยืนได้สะดวก
2.ไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ หรือนั่งราบบนพื้น เพราะท่านั่งดังกล่าวจะทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเร็วขึ้น
3.หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนิ่ง นานๆ เพราะการที่ข้อเข่าอยู่ในท่าเดียวเป็นเวลานาน จะทำให้กระดูกอ่อน ซึ่งโดยปกติจะมีเลือดไปเลี้ยงน้อยมากอยู่แล้ว จะยิ่งขาดสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้น ดังนั้นควรเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกขึ้นเดินไปมาอย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง หรือนั่งเหยียดขา เตะขาเบาๆ บริหารกล้ามเนื้อต้นขาร่วมด้วยเป็นพักๆ เป็นต้น
4.ควบคุมน้ำหนัก หากผู้สูงอายุมีน้ำหนักเกินมาตรฐานก็จะทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักมาก ส่งผลให้อาการเข่าเสื่อมรุนแรงกว่าเดิม
5.ควรรับประทาน อาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เช่นรับประทานข้าวกล้อง ดื่มนมขาดมันเนย ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยและรสชาติไม่หวาน รับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน ให้น้อยที่สุดเช่น ปลาซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายเหมาะกับผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด และ หวานจัด เลือกรับประทานอาหารนึ่ง ตุ๋น อบ ย่าง แทนอาหารประเภทผัด ทอด แกงกะทิ
6.ดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 8 แก้วต่อวัน เนื่องจากกระดูกอ่อนตามข้อต่างๆ มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึงร้อยละ 70 และมีหน้าที่สำคัญในการหล่อลื่นและรับแรงกระแทกกับข้อที่แข็งแรง
นอกจากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เปลี่ยนอิริยาบถท่านั่ง ท่ายืน ให้ถูกต้อง เพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อเข่า และควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เช่น การออกกำลังกายในน้ำ เดิน เต้นรำ รำมวยจีน เล่นฟิตเนส เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมถึงบริหารข้อเข่าเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น
การดูแลตนเองอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะช่วยชะลอความเสื่อม หรือบรรเทาอาการของข้อเข่าเสื่อมได้ ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของรุ่นใหญ่ดียิ่งขึ้น
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
www.si.mahidol.ac.th, www.pobpad.com, med.mahidol.ac.th
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: