อาการบ้านหมุน
อีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นั้นคืออาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) ซึ่งผู้สูงอายุจะรู้สึกวิงเวียน เหมือนสิ่งของรอบตัวหมุนเคว้ง เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และสูญเสียการทรงตัวในที่สุด ทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ ดังนั้นผู้สูงอายุควรใส่ใจ ศึกษาเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ และวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ดังนี้
อาการและสาเหตุ
แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ผู้สูงอายุจะรู้สึกว่าตัวเองหมุนหรือเคลื่อนไหวไปเอง ทั้งที่ผู้สูงอายุยืนยูเฉยๆ และลักษณะที่ 2 จะมีความรู้สึกว่าวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหว หรือหมุนไปรอบ ๆ ตัว ทั้งที่จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น
อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่ ความผิดปกติของอวัยวะการรับรู้ในหูชั้นใน จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือ โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำและแรงดันที่อยู่ภายในหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หูอื้อ และการได้ยินลดลง
โรคประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular Neuronitis) หรือประสาทหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) เป็นภาวะของประสาทหูชั้นในอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งการอักเสบของหูชั้นรอบ ๆ เส้นประสาทนี้จะส่งผลต่อระบบการทรงตัวของร่างกาย
นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ยาบางชนิดที่มีผลต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน การบาดเจ็บที่ศีรษะและบริเวณคอ โรคไมเกรน และโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง
เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนควรทำอย่างไร
เมื่อเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะ ควรนั่งพักหรือนอนบนพื้นราบโดยให้ศีรษะยกขึ้นสูงเล็กน้อย ผู้สูงอายุบางรายที่มีปัญหาในการทรงตัว ควรใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงในการเดิน จะช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ
หากผู้สูงอายุท่านใดที่มีอาการเวียนศีรษะที่มีสาเหตุจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) ไม่ควรเคลื่อนไหวศีรษะในลักษณะที่ผิดไปจากตำแหน่งปกติมากเกินไป เช่น การเอื้อมหยิบของที่สูงหรือก้มต่ำ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของตะกอนหินปูนที่ผิดปกติในหูชั้นใน
การป้องกันอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
1.ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ไม่รีบร้อนหรือทำอะไรที่รวดเร็วเกินไป
2.ระวังการลื่นล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุรุนแรงกับศีรษะและสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออวัยวะควบคุมระบบการทรงตัวภายในหูชั้นใน
3.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ซึ่งมีสารที่อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงหูชั้นในได้น้อยลง
4.ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด เนื่องจากความเค็มจะส่งผลให้มีน้ำคั่งในร่างกาย และในหูชั้นในมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยเฉพาะในขณะที่ผู้สูงอายุเปลี่ยนท่าทางของศีรษะอย่างรวดเร็ว อาการดังกล่าวมักทำให้สูญเสียการทรงตัว และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นผู้สูงอายุควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
นอกจากนี้การดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ จะช่วยให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากอาการดังกล่าวได้
ขอบคุณแหล่งข้อมูล :
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: