หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ Brewer’s yeast กันมาบ้างแล้ว แต่มีใครรู้บ้างว่าเจ้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวนี้มีดีอย่างไร? และมีผลข้างเคียงหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง? วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจของทุกคนกัน โดยเริ่มจากการทำความรู้จักกับ brewer’s yeast กันก่อนดีกว่า
Brewer’s yeast คือยีสต์สายพันธุ์ Saccharomyces cerevisias ที่ได้จากกระบวนการผลิตเบียร์ ซึ่งเป็นยีสต์ที่ตายแล้วและอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 16 ชนิด ที่ช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ วิตามิน 17 ชนิด ซึ่งเป็นแหล่งสารอาหารธรรมชาติที่ดีที่สุดของ Vitamin b-complex ซึ่งประกอบไปด้วย B1, B2, B3, B5, B6, B7 และ B9 และยังมีเกลือแร่ที่สูง คือ โครเมียม สังกะสี เหล็ก ฟอสฟอรัส และเซเลเนียม เนื่องจากเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีจึงมีการคัดแยกเอา brewer’s yeast มาจากเบียร์เพื่อนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้แก่มนุษย์เรา
ประโยชน์มากมายของ Brewer’s yeast
-
ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ที่ขาด vitamin b เช่น ผู้ที่ทานมังสาวิรัสหรือผู้ที่ขาดสารอาหาร
-
บำรุงเส้นผมและเล็บให้มีความแข็งแรงและลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผม
-
บำรุงปลายประสาทจากอาการเหน็บชา, อาการเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียจากการทำงาน
-
ช่วยลดระดับน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
-
ช่วยลดระดับไขมันในกระแสเลือดสำหรับผู้ที่มี cholesterol ในเลือดสูง
-
ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกหรือช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น
-
บรรเทาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ ท้องร่วงหรือถ่ายเป็นน้ำ
-
ช่วยบำรุงร่างกายและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายถึง 16 ชนิด
จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า brewer’s yeast มีประโยชน์หลายอย่าง น่าหาซื้อมารับประทาน แต่ทว่า brewer’s yeast เองก็มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกันคือ เมื่อทานแล้วอาจเกิดแก็สในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นในการรับประทานทานเริ่มแรกแนะนำให้ทานในขนาดต่ำๆก่อน เพื่อประเมินผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นแล้วจึงปรับขนาดขึ้นทีละน้อยจนถึงขนาดที่เหมาะสม (สำหรับขนาดที่แนะนำไม่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีความแตกต่างออกไปตามการนำไปใช้ประโยชน์)
ใครบ้างที่ไม่ควรรับประทาน Brewer’s yeast
-
ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีภาวะกระดูกพรุน เนื่องจาก brewer’s yeast มีปริมาณ ฟอสฟอรัสสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมมากขึ้น
-
ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง
-
ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์เนื่องจาก brewer’s yeast ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น
-
ผู้ที่ทานยาต้านซึมเศร้าอยู่ เนื่องจาก brewer’s yeast มีสารกลุ่ม tyramine เมื่อรับประทานร่วมกับยาต้านซึมเศร้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertensive crisis)
ดังนั้นใครที่ต้องการบริโภค brewer’s yeast ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณิน เชิดเกียรติกุล PMX002
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง