อาการนอนไม่หลับมักเกิดขึ้นได้บ่อยเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ มีสาเหตุมากจากความวิตกกังวล โรคประจำตัว ความเจ็บปวดทางร่างกาย รวมถึงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นระยะเวลาในการนอนตอนกลางคืนจะลดลง มีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ ส่งผลให้คุณภาพการนอนลดลง ทำให้วัยเกษียณส่วนใหญ่ต้องนอนตอนกลางวันเพิ่มขึ้นนั่นเอง
วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับประโยชน์จากการนอนกลางวัน และเคล็ดลับการนอนกลางวันให้มีประสิทธิภาพสูงสุดมาฝากกันค่ะ
ประโยชน์จากการนอนกลางวัน
มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการงีบในเวลากลางวันหรือช่วงบ่ายจะช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ลดความง่วงเหงาหาวนอนลงได้ การงีบในตอนกลางวันตามปกติจะไม่รบกวนการนอนตอนกลางคืน และช่วยให้การนอนหลับในเวลากลางคืนดีขึ้นด้วยหากนอนในระยะเวลาที่เหมาะสม
ควรนอนกลางวันนานแค่ไหน?
วัยเกษียณควรหลับไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการนอนกลางวัน คือ ช่วงเวลาบ่าย 2 หรือบ่าย 3 โมง เพราะเป็นช่วงที่คนมักรู้สึกง่วงหลังจากรับประทานอาหารกลางวันและมีความตื่นตัวลดลง ไม่ควรนอนหลังจากเวลาบ่าย 3 โมง เพราะอาจทำให้ความอยากนอนในช่วงเวลากลางคืนลดลงได้
นอนกลางวันนานสัญญาณเกิดโรค
ถึงแม้การนอนกลางวันจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากนอนเป็นเวลานานเกินไปจะทำให้หลังตื่นนอนจะยิ่งรู้สึกง่วงซึมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยพบว่าวัยเกษียณที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม หากนอนกลางวันนานเกินไปและนอนเป็นประจำ อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงเป็นโรคความจำเสื่อมและโรคเบาหวานเบื้องต้นได้
อย่างไรก็ตามการนอนกลางวันเป็นสัญญาณว่าการนอนหลับในช่วงกลางคืนไม่มีประสิทธิภาพ วัยเกษียณควรใส่ใจโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้แก่ งดดื่มแอลกอฮอล์, งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน ควรเพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในช่วงเวลากลางวันซึ่งจะช่วยให้การนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ควรปรับสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ได้แก่ ปรับอุณหภูมิไม่ให้ร้อนและหนาวจนเกินไป ทำห้องนอนให้มืดพอสมควร และไม่มีเสียงรบกวน หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยังรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนตลอดวัน วัยเกษียณควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
#อาวุโสโซไซตี้
#เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง