กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ทำอย่างไรดี?
อีกหนึ่งปัญหาที่มักสร้างความกังวลใจให้รุ่นใหญ่ โดยเฉพาะเวลาที่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน คืออาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (urinary incontinence) สาเหตุสำคัญมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบที่เกี่ยวข้องเสื่อมถอยลง โดยผู้สูงอายุหญิงจะประสบปัญหานี้มากกว่าผู้สูงอายุชายถึงสองเท่า แต่เมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไป โอกาสจะสูงพอๆ กัน
อาการดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ปัสสาวะที่ราดออกมาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ในด้านของสุขภาพจิตอาจทำให้ผู้สูงอายุสึกว่าตนเองไม่ปกติ มีความกังวลว่าผู้อื่นจะได้กลิ่นเหม็นปัสสาวะ รู้สึกเป็นเรื่องน่าอาย
วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสาเหตุ วิธีฝึกการกลั้นปัสสาวะและวิธีปฏิบัติตัว เพื่อรับมือกับภาวะดังกล่าวมาฝากกันค่ะ
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (urinary incontinence) คืออะไร
คือภาวะที่มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาโดยไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและกลั้นได้ ทั้งด้านปริมาณและความบ่อยของการขับถ่ายปัสสาวะ โดยแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
1.ปัสสาวะเล็ด (stress incontinence)
มีสาเหตุมาจากตัวหูรูดท่อปัสสาวะหดรัดตัวได้ไม่ดี หรือมีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ดังนั้นหากมีความดันในช่องท้องอย่างกะทันหัน เช่น จากการที่ผู้สูง อายุ ไอ จาม หัวเราะ วิ่ง ก้าวขึ้น บันได หรือก้มลงยกของหนักๆ เป็นต้น จะทำให้ความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้น ส่งผลให้หูรูดท่อปัสสาวะไม่สามารถควบคุมการไหลของปัสสาวะได้
2.ปัสสาวะราด(urge incontinence)
หากผู้สูงอายุเกิดอาการปวดปัสสาวะ จะมีปัสสาวะราดออกมาทันที โดยไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ทัน สาเหตุเกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ (OAB: over active bladder) ทั้งที่ปัสสาวะยังไม่เต็ม ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความผิดปกติของระบบประสาทและโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ เนื้องอก หรือนิ่วกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
3. ปัสสาวะเล็ดราด (overflow incontinence)
เกิดจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะสูญเสียความสามารถในการบีบตัว หรือเกิดจากการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (bladder outlet obstruction) เช่น ต่อมลูกหมากโต เป็นผลให้ภายหลังการปัสสาวะยังคงเหลือน้ำปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมาก เมื่อไตผลิตน้ำปัสสาวะในอัตราคงที่ สักพักหนึ่งกระเพาะปัสสาวะก็จะเต็ม ทำให้ผู้สูงอายุปวด ปัสสาวะบ่อย หรือมีปัสสาวะส่วนที่เกินความจุของกระเพาะปัสสาวะ อาจเล็ดออกมาเองในปริมาณน้อยๆ แต่ออกมาเรื่อยๆ โดยที่ผู้สูงอายุ ไม่มีอาการปวดปัสสาวะได้
4. ภาวะที่เกิดจากโรคทางกายที่ไม่ใช่ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (functional incontinence)
เกิดจากมีปัญหาทางสมองหรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสติปัญญา (cognition) เช่น ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ซึ่งบางรายไม่ทราบว่าเมื่อไรตนต้องไปเข้าห้องน้ำ หรือบางรายจดจำวิธีการใช้ห้องน้ำไม่ได้ เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ ผู้สูง อายุที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว (mobility) เช่น มีปัญหาโรค ข้อเข่าเสื่อม และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การที่ห้องน้ำอยู่ไกล หรือ มีราวกั้นเตียงทำให้ ลุกออกจากเตียงเองไม่ได้
สาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้
เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ระบบของทางเดินปัสสาวะเองและในระบบที่เกี่ยวข้องเสื่อมลง ฮอร์โมนที่ลดลง รวมถึงมีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเชิงกราน การบีบรัดของกล้ามเนื้อหูรูดเสื่อมลง รวมถึงผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ เช่น เบาหวาน เบาจืด โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง โรคซึมเศร้า เป็นต้น
การบริหารกล้ามเนื้อหูรูดให้แข็งแรง
เป็นวิธีบริหารที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ง่ายๆ คือฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูดอย่างแรงเหมือนกำลังกลั้นปัสสาวะ และขมิบทำเช่นนั้นนานประมาณ 5 วินาที หยุดขมิบ 10 วินาที แล้วทำซ้ำ ให้ทำเช่นนี้ 10 ครั้ง ในตอนเช้า กลางวัน และเย็น ทุกวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนครั้งของการขมิบเป็น 15 ที วันละ3 ครั้ง 20 ที วันละ3 ครั้ง 20 ที วันละ4 ครั้ง และทำเพิ่มอีก 20 ที ต่อมาเมื่อเข้าห้องน้ำถ่ายปัสสาวะลองถ่ายเพียงครึ่งหนึ่งแล้วหยุดด้วยการขมิบอย่างแรง เพื่อทดสอบว่าสามารถกลั้น
ปัสสาวะได้หรือยัง
ฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (bladder training)
ผู้สูงอายุทำได้โดยการค่อยๆ ยืดระยะเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานออกไป ให้พยายามกลั้นปัสสาวะให้ได้นานขึ้นอีกเล็กน้อยก่อนที่จะไปห้องน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะ เป็นการฝึกให้กระเพาะปัสสาวะทนได้กับน้ำปัสสาวะในปริมาณที่มากขึ้น วิธีนี้จะทำให้ผู้สูงอายุไปเข้าห้องน้ำด้วยความถี่น้อยลง
อีกทั้งผู้สูงอายุไม่ควรเบ่งปัสสาวะอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามในขณะเข้าห้องน้ำควรปัสสาวะให้หมด โดยการโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยจะทำให้ปัสสาวะไม่คั่งค้าง ช่วยลดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
1.ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย ได้แก่ ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มอัดแก๊ส เช่น น้ำโซดา น้ำอัดลมและงดสูบบุหรี่
2.ไม่ดื่มน้ำมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้สมองบวม ไตทำงานหนัก และยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำ 30-50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นั่นคือ หากมีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ควรดื่มน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร และไม่ควรดื่มปริมาณมากในครั้งเดียวจนหมด
การปฏิบัติตนเพื่อให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นปกตินั้นเป็นสิ่งที่รุ่นใหญ่ไม่ควรละเลย ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งเรื่องอาหารการกิน ฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ สิ่งสำคัญคือผู้สูงอายุควรบริหารกล้ามเนื้อหูรูดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขอนามัยที่ดีและเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันค่ะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
ปนิฏฐา นาคช่วย เวชสารแพทย์ทหารบก ปีที่ 69 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2559
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: