นิ้วมือเรานับว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยหยิบจับสิ่งของต่างๆ และถ้าวันหนึ่งนิ้วมือไม่สามารถงอหรือเหยียดออกได้ จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากแค่ไหน
วันนี้อาวุโส โซไซตี้ จะมาพูดถึงเรื่อง “นิ้วล็อค” ที่เราไม่ควรมองข้ามกันค่ะ
“นิ้วล็อค” คืออาการนิ้วมือที่งอไม่ได้และไม่สามารถเหยียดให้กลับมาตรงได้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบที่หนาตัวของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อไม่สามารถยืดหรือหดตัวได้นิ้วก็จะเกิดอาการล็อค โดยมีอาการดังนี้
- รู้สึกดังกึกเมื่อต้องงอหรือยืดนิ้ว
- ตอนเช้าจะมีอาการนิ้วแข็ง
- มีบางอย่างนูนขึ้นมาบริเวณโคนนิ้วที่ล็อคและรู้สึกตึง
- นิ้วล็อคเมื่องอนิ้ว ซึ่งเกิดขึ้นทันทีที่ยืดนิ้วกะทันหัน
- นิ้วล็อคเมื่องอนิ้วและไม่สามารถยืดกลับได้
สาเหตุของการเกิดนิ้วล็อค
1.เกิดจากการแบกของหนักเป็นเวลานาน
เนื่องจากนิ้วเราถูกใช้งานหนัก มีการงอนิ้วเป็นเวลานาน จนเกิดอาการปวดและเป็นพังผืดส่งผลให้เกิดเป็นนิ้วล็อคได้อย่างง่ายดาย
2.ปัญหาสุขภาพ
นิ้วล็อคสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุที่ไม่ใช่การใช้งานนิ้วมือเพียงอย่างเดียว โดยสามารถเกิดได้จากสุขภาพของบุคคล เช่น โรคข้อกระดูกอักเสบ
3.เกิดจากการพิมพ์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นประจำ
สำหรับคนวัยทำงานที่ต้องพิมพ์อยู่ตลอดเวลาหรือคนที่ติดการพิมพ์ในโทรศัพท์ก็สามารถมีสิทธิ์เป็นโรคนิ้วล็อคได้ เนื่องจากนิ้วมือเรามีการเกร็งหรือใช้งานในการพิมพ์มากจนเกินไป
โดยการเกิดนิ้วล็อคสามารถเกิดได้ 4 ระยะ
ระยะที่ 1 : คนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บฝ่ามือ แต่ยังคงเคลื่อนไหวนิ้วได้เป็นปกติ
ระยะที่ 2 : ปลอกเส้นเอ็นจะตีบแคบลง การเคลื่อนไหวจะยากขึ้น
ดังนั้นเวลางอนิ้วจะมีการสะดุดแต่ยังงอได้เหยียดได้ ยังใช้งานได้เป็นปกติ
ระยะที่ 3 : ระยะนี้จะกำมือได้ แต่จะมีอาการค้าง, เหยียดนิ้วมือไม่ออก
จึงต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยในการเหยียดนิ้วมือออกมา
ระยะที่ 4 : ปลอกเอ็นจะตีบแคบมากจนกระทั่งเอ็นไม่สามารถผ่านจุดคอดได้ ดังนั้นเวลากำมือนิ้วจะกำไม่ลง
ซึ่งเห็นได้ว่าในแต่ระยะจะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน นิ้วล็อคมีได้หลายอาการ ตั้งแต่เจ็บฝ่ามือ นิ้วสะดุดขึ้นลง กำมือแล้วไม่สามารถเหยียดมือออกมาได้ หรือไม่สามารถกำมือได้
วิธีการรักษานิ้วล็อค
การบำบัดนิ้วล็อคด้วยตัวเองที่นอกเหนือจากการใช้ยามีดังนี้
1.พักผ่อน
พักการใช้งานจากนิ้วมือที่ต้องออกแรงหนักหรือแบกของหนักๆ เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ และให้นวดเบาๆ ร่วมด้วย
2.ประคบร้อนประคบเย็น
การประคบร้อนหรือประคบเย็นเป็นวิธีที่ช่วยให้เส้นเอ็นที่เกิดพังผืดคลายตัวทุเลาลงได้
3.ใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว
สำหรับคนที่มีอาการหนักถึงขั้นต้องดามนิ้ว วิธีนี้ก็จะช่วยให้นิ้วกลับมาตรงได้ โดยนิ้วเราจะถูกดามและถูกพักการใช้งานทำให้อาการดีขึ้น
4.ออกกำลังกายยืดเส้น
เป็นการนวดนิ้วหรือขยับนิ้วให้เส้นเอ็นคลายตัวและให้นิ้วที่ล็อคอยู่สามารถกลับมาขยับได้
บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงวัยที่มักจะพบบ่อยเนื่องจากเกิดจากการใช้งานสะสมกันมาเป็นเวลานานและด้วยความเสื่อมของเส้นเอ็นจากการใช้งานเป็นเวลานานเช่นกัน และเป็นที่น่าแปลกใจที่นิ้วล็อคมักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยจะเกิดกับผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน
การป้องกันนิ้วล็อคในเบื้องต้นคือ การไม่ใช้งานนิ้วมือที่หนักจนเกินไป ไม่งอนิ้วเป็นเวลานานๆ และประคบร้อนประคบเย็น เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วไม่ให้เกิดพังผืด
#อาวุโสโซไซตี้
#เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง