เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดย่อมเสื่อมสภาพเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน รวมถึงวัยเกษียณที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก่อน หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าวัยอื่น ๆ เช่นกัน
วันนี้ เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับอาการ วิธีการรักษา รวมถึงแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวมาแบ่งปันกันค่ะ
โรคหลอดเลือดสมองตีบตันคืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมองตีบตันคือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตันจากการเกาะสะสมของไขมันและเนื้อเยื่อในผนังของหลอดเลือด ส่งผลให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในหนาขึ้น เมื่อหลอดเลือดตีบแคบลง ทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง เลือดจึงไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก
ในบางรายหากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากคราบไขมันสะสมที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในแตกออกและกลายเป็นลิ่มเลือด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือเสียชีวิตกะทันหันได้
อาการ
มักจะมีอาการเจ็บหน้าอกตรงบริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย เจ็บแน่น ๆ บริเวณหน้าอกเหมือนมีอะไรมาบีบรัด หรือมีของหนัก ๆ มาทับอกอยู่ อาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณไหล่ซ้ายและแขนซ้าย หรือร้าวไปที่กรามทั้ง 2 ข้าง และมักจะเป็นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้แรงงานหนัก ๆ เพราะช่วงนั้นหัวใจจะต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่เลือดไปเลี้ยงไม่ได้เพราะว่ามีหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบอยู่
วิธีการรักษา
สามารถทำได้หลายวิธี หากวัยเกษียณยังมีอาการน้อยและหลอดเลือดตีบไม่มากก็สามารถรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด นอกจากนี้ยังมีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด รวมถึงการนำขดลวดเคลือบยามาใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอีกด้วย
การป้องกัน
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
สำหรับวัยเกษียณชายในแต่ละวันนั้นควรได้รับพลังงานไม่เกิน 2,250 แคลอรี่ ส่วนผู้หญิงควรได้รับพลังงานไม่เกิน 1,850 แคลอรี่ โดยหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไขมันอิ่มตัว ลดเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล หลีกเลี่ยงการทานอาหารจานด่วน อาหารเค็มจัด และควรทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
2.หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
โดยเลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง หรืออาจใช้วิธีทำกิจกรรมในบ้าน เช่น ปลูกผัก ทำงานบ้านก็ได้เช่นกัน
3.ลดความเครียด
ความเครียดคือตัวกระตุ้นที่จะทำให้เกิดโรคดังกล่าว ดังนั้นวัยเกษียณต้องหมั่นฝึกจัดการความเครียดของตนเอง โดยใช้วิธีหากิจกรรมที่ตนเองสนใจทำ ออกกำลังกาย เล่นโยคะ เล่นเกม ฝึกสมาธิ เป็นอาสาสมัครชุมชน
4.เลิกบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน เนื่องจากสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
5.ควบคุมระดับน้ำตาล
วัยเกษียณท่านใดที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตด้วย
ถึงแม้ปัจจุบันการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก ทำให้มีวิธีการรักษาโรคดังกล่าวได้หลายวิธี ลดอันตรายและทำให้วัยเกษียณที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่ค่ารักษาก็ยังสูงอยู่ ทางที่ดีแล้วรุ่นใหญ่ควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวนะคะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
หนังสือคู่มือวัยเกษียณฉบับสมบูรณ์,
#อาวุโสโซไซตี้
#เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง