'รับมือโรคเหงือก' เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี
โรคเหงือก หนึ่งในปัญหาสุขภาพช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะรุ่นใหญ่อย่างเราๆ ที่ใช้งานเหงือกและฟันมายาวนาน ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าวเสื่อมสภาพ หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบหรือรำมะนาด อาจทำให้สูญเสียฟันไปในที่สุด ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตไม่ว่าจะเป็นการกิน และการเข้าสังคม
นอกจากนี้อาการอักเสบในช่องปาก จะทำให้เกิดเชื้อโรคและสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจ ปอด ลำไส้ ตับ ไต เป็นต้น
วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพเหงือกมาฝากกันค่ะ
สาเหตุของโรคเหงือก
แบคทีเรียในคราบพลัค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สะสมจนก่อตัวเป็นคราบพลัค (คราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน เหมือนฟิล์มที่เคลือบฟันเอาไว้) แบคทีเรียในคราบพลัคจะใช้น้ำตาลในอาหารสร้างกรดที่ทำให้เหงือกของผู้สูงอายุระคายเคืองและทำลายเคลือบฟัน ซึ่งจะทำให้ฟันผุในที่สุด รวมถึงสารพิษจากแบคทีเรียยังทำให้เกิดการอักเสบและสร้างความเสียหายรอบเนื้อเยื่อเหงือก ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายส่งเลือดไปยังบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ทำให้เหงือกมีเลือดออกขณะแปรงฟันนั่นเอง
นอกจากนี้แบคทีเรียในคราบพลัคอาจทำให้ผู้สูงอายุมีอาการเหงือกร่น ทำให้เกิดช่องว่างขนาดเล็ก หรือร่องเป็นที่สะสมของคราบพลัค เมื่อเวลาผ่านไป ร่องเหล่านี้อาจลึกขึ้น ทำให้กระดูกและเนื้อเยื่อที่รองรับและปกป้องฟันของผู้สูงอายุอยู่อ่อนแอลงในที่สุด
การสูบบุหรี่
เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้ความสามารถในการต่อต้านการติดเชื้อของร่างกายน้อยลง และยังบดบังสัญญาณของปัญหาสุขภาพเหงือกอีกด้วย
ปัจจัยอื่น ๆ
นอกจากนี้โรคเหงือกยังมีปัจจัยมาจากการรับทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ การที่ผู้สูงอายุไม่ทำความสะอาดบริเวณช่องปาก รวมถึงมีสาเหตุมากจากโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง อีกทั้งยังเกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ความเครียด
อาการของโรคเหงือกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะเหงือกอักเสบ
เป็นระยะเริ่มต้น การอักเสบนี้เกิดมาจากคราบพลัคที่ก่อตัวขึ้นมาตามรอยต่อระหว่างฟันและเหงือก การสะสมของคราบพลัคนี้จะทำให้เกิดสารพิษ ซึ่งก่อความระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อเหงือก และทำให้อักเสบในที่สุด อาการที่สังเกตได้ง่ายก็คือการมีเลือดออกขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
ระยะเยื่อหุ้มฟันอักเสบ
เป็นระยะที่กระดูกและเนื้อเยื่อที่ช่วยพยุงฟันได้ถูกทำลายจนไม่สามารถรักษาให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมได้แล้ว เหงือกจะเริ่มร่นและเกิดโพรงขึ้นใต้รอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดคราบพลัค และมีเศษอาหารติดฟันได้ง่าย
ระยะเยื่อหุ้มฟันอักเสบตอนปลาย
โรคเหงือกระยะสุดท้ายนี้ กระดูกและเนื้อเยื่อพยุงฟันได้ถูกทำลายไปจนหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการฟันเคลื่อนหรือฟันโยกได้ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการเคี้ยวที่บกพร่อง สุดท้ายคือต้องรักษาด้วยการถอนฟัน
การป้องกันและดูแลสุขภาพเหงือก
1. ทำความสะอาดฟันเป็นประจำทุกวัน ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เพื่อกำจัดแบคทีเรีย (คราบจุลินทรีย์) ที่จะสะสมบนฟัน โดยแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึง และใช้เครื่องมือทำความสะอาดในบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก เช่น แปรงสำหรับซอกฟันหรือไหมขัดฟัน
2. หมั่นตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ เพราะโรคเหงือกมักไม่มีอาการปวดโดยเฉพาะระยะเริ่มแรกหรือคนที่สูบบุหรี่ ดังนั้นควรตรวจสุขภาพฟันด้วยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพื่อเช็คสุขภาพเหงือกและฟัน และขอรับคำปรึกษาการดูแลสุขภาพเหงือกอย่างถูกวิธี
3. ขูดหินปูน จะช่วยลดสาเหตุที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพเหงือกได้
4. อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าบุหรี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเงือก ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่จะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
5. กรณีที่ผู้สูงอายุใส่ฟันปลอม
หากผู้สูงอายุใช้ฟันปลอมชนิดถอดได้ นอกจากจะทำความสะอาดฟันปลอมอย่างถูกวิธีแล้ว ก่อนนอนผู้สูงอายุควรถอดฟันปลอม เพื่อให้เหงือกได้พักผ่อน ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเหงือกอักเสบที่จะตามมา หากใช้ฟันปลอมชนิดติดแน่น ควรใช้ไหมขัดฟันสอดเข้าทำความสะอาดใต้ฟันปลอมและขอบเหงือกด้วย
ถึงแม้อายุที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยหลักทำให้เงือกและฟันเสื่อมสภาพ แต่การดูแลเอาใจใส่อวัยวะดังกล่าวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อคงสภาพการใช้งานให้นานที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุขณะเข้าสังคม
ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ก็ต้องหมั่นดูแลฟันปลอมอย่างถูกวิธีและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเหงือกด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก :
www.parodontax.co.th, www.ldcdental.com,
#อาวุโสโซไซตี้
#เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง