บายพาสหัวใจไม่ต้องหยุดเต้น ลดแทรกซ้อนในผู้สูงอายุ
สำนักข่าวเดลินิวส์
สัปดาห์นี้มีเทคนิคผ่าตัดบายพาสหัวใจทั้งๆ ที่ยังเต้นอยู่ เหมาะกับกลุ่มคนไข้กล้ามเนื้อหัวใจและไตทำงานไม่ดี รวมถึงผู้สูงอายุช่วยให้เสียเลือดน้อย จึงลดภาวะแทรกซ้อน เป็นอย่างไรไปอ่านกัน
“หลอดเลือดหัวใจตีบ” เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจล้มเหลว ต้นเหตุของการพรากชีวิตของคนที่เรารักไปก่อนเวลาอย่างไม่มีวันกลับ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือพฤติกรรมวิถีชีวิตและการบริโภคของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป ทำให้เราเสี่ยงเจ็บป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะ “โรคหัวใจ” ที่เห็นได้จากสถิติคนไทยที่เป็น “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” กันมากเป็นอันดับต้นๆ
นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ความรู้ว่าปกติคนเรามีเส้นเลือดหรือหลอดเลือดใหญ่และหลอดเลือดขนาดเล็กที่ส่งเลือดออกจากหัวใจไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงหัวใจด้วย ซึ่งเส้นเลือดของเรามีขนาดเล็กเพียง 2-4 มิลลิเมตร หากถูกไขมันเกาะหรือพอกสะสม จนทำให้ตีบแคบลงจนเลือดไหลไม่สะดวก ถ้าตีบมากๆ จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจได้มากพอ อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันและเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตันก็คือการที่มีไขมันในเส้นเลือดสูง ซึ่งปกติร่างกายเรามีไขมัน 2 ชนิด คือไขมันดีและไขมันเลว หรือที่เราเรียกว่า “คลอเลสเตอรอล” สำหรับไขมันดีนั้นทำหน้าที่ช่วยลดการเกาะพอกที่ผนังเส้นเลือด ส่วนไขมันเลวเพิ่มโอกาสการเกาะหรือพอกมากขึ้น ฉะนั้นคนที่เป็นโรคนี้ควรมีไขมันดีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของไขมันเลวเพื่อป้องกันไม่ให้ตีบมากขึ้น ขณะที่ความดันโลหิตสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความเครียด และน้ำหนักตัวเกิน ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลให้เส้นเลือดตีบเร็วขึ้นได้ทั้งหมด
อาการส่วนมากที่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ คือแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก บางรายมีอาการแน่นหน้าอกแบบชี้ชัดตำแหน่งไม่ได้ หรือปวดร้าวไปถึงกรามหรือแขน โดยเฉพาะซีกซ้าย บางรายมีอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยผิดปกติ หรือเจ็บหน้าอกมากขึ้น ออกกำลังกายได้น้อยลง เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ บางคนอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ บางคนจุกตรงคอ หรือปวดกรามก็มี
หากมาพบแพทย์จะมีการตรวจหาโรคด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ป่วย เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการประเมินเบื้องต้น แต่การตรวจลงลึกสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การวิ่งสายพาน การทำอัลตร้าซาวน์หัวใจ สำหรับคนไข้ที่วิ่งสายพานไม่ไหว แพทย์จะใช้วิธีฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือด ซึ่งเป็นการกระตุ้นหัวใจที่เลียนแบบการวิ่งบนสายพาน นอกจากนี้ยังมีการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ และวิธีสวนหัวใจหรือฉีดสีเป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำที่สุด เพราะสามารถดูว่าเส้นเลือดไหนตีบมากน้อยแค่ไหน
สำหรับ “การรักษา” หากเส้นเลือดตีบไม่มาก เลือดยังพอไปเลี้ยงหัวใจพอสามารถรักษาได้โดย “ทานยาป้องกันเกล็ดเลือดแข็งตัว” และควบคุมปัจจัยเสี่ยง ส่วนการรักษาด้วย “การทำบอลลูน” หรือถ่างขยายเส้นเลือดพร้อมใส่ขวดเลือด ใช้รักษาในกลุ่มที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์
และวิธีการรักษาด้วย “การทำบายพาส” มี 2 เทคนิคที่นิยม คือการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ แบบต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม เพื่อหยุดการทำงานของหัวใจทั้งหมด และการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม หรือเรียกว่า “เทคนิคผ่าตัดแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ” คือการผ่าตัดหัวใจขณะที่หัวใจยังเต้นอยู่ โดยนำเครื่องมือเข้ามาเกาะยึดหัวใจให้หยุดนิ่งในตำแหน่งที่ทำการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจยังเต้นเป็นจังหวะอยู่
จากรายงานวิชาการในต่างประเทศ มีสถิติในสหรัฐอเมริกาพบว่าการผ่าตัดโดยไม่หยุดหัวใจเหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอัตราการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจไม่ดี ไตทำงานไม่ดี และคนไข้กลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบหรือเคยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ขณะที่การผ่าตัดโดยใช้ปอดและหัวใจเทียมหยุดหัวใจทั้งหมด ต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดมากกว่า 3 เท่า เพราะฉะนั้นมีโอกาสเสียเลือดมากกว่า
ดังนั้นข้อดีของ “การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ” นั้นมีมากมาย เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีอัตราความเสี่ยงสูง และผู้ป่วยที่มีหลายโรคแทรกซ้อน ช่วยให้เสียเลือดน้อยลงขณะผ่าตัด ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดน้อยลง พักฟื้นไม่นาน และผลข้างเคียงน้อยกว่า
แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือหลังรับการรักษาแล้วจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราแก้ไขรักษาไปแล้วอยู่ได้นาน จึงต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น รับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ปลา ผัก ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ความดันลดลง และชีพจรเต้นช้าลง ทำให้ไขมันตัวดีเพิ่มขึ้น ไม่เครียด ไม่สูบบุหรี่ และคุมโรคประจำตัวให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโอกาสเป็นใหม่อีกหรือเป็นช้าลงนั่นเอง
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “ชญานิษฐ คงเดชศักดา”
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก :
#อาวุโสโซไซตี้ #คนสูงอายุ #สูงวัย #อาวุโส
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: