ผู้สูงวัย กับปัญหาการนอนหลับ
ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมผู้สูงอายุบางคนนอนกลางวันแล้วไปตื่นช่วงกลางคืน บางคนนอนไม่หลับแต่ตื่นเช้ามาก บางคนนอนหลับๆ ตื่นๆ แทบทุกชั่วโมง เมื่อผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้มากขึ้น เกิดความกังวลเวลาเข้านอน กลัวว่าจะนอนไม่หลับ จนบางท่านต้องพึ่งยานอนหลับ นับเป็นจุดเริ่มต้นของ “การติดยานอนหลับ”
ดังนั้น ลูกหลานหรือคนดูแลผู้สูงอายุต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดและเข้าใจธรรมชาติของช่วงอายุ ทำความเข้าใจในสาเหตุ ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ เพื่อจะได้วางแผนการดูแลที่เหมาะสม
ปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ เช่น การงีบหลับในเวลากลางวัน การนอนไม่เป็นเวลา หรือปัจจัยภายในของผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น อาการปวดด้วยสาเหตุต่าง ๆ ความไม่สบายตัวจากโรคประจำตัว ปัญหาทางด้านจิตใจ สาเหตุทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนอนหลับในผู้สูงอายุมีคุณภาพลดลง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกหลายชนิดที่มีผลต่อการหลับและการตื่น ได้แก่ ระดับฮอร์โมนในกระแสเลือด ระดับเมลาโทนิน อุณหภูมิในร่างกาย และ แสงสว่าง
เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการนอนหลับ หากเมลาโทนินสูงจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ปกติแล้วเมลาโทนินจะเริ่มหลั่งมากขึ้นตั้งแต่ 2 ทุ่ม และจะหลั่งมากที่สุดในช่วงเวลาประมาน ตี3 และเริ่มลดลงเรื่อยๆจนต่ำสุดในช่วง 7 โมงเช้า เมลาโทนินนั้นจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของแสงสว่าง คือ หากมีแสงสว่างมากจะทำให้หลั่งออกมาน้อย ในทางตรงกันข้ามหากมีแสงสว่างน้อยเมลาโทนินก็จะหลั่งออกมามาก เมื่อมีอายุมากขึ้นการนอนหลับจึงไม่ราบรื่นเหมือนเดิม สาเหตุเนื่องมาจาก การลดลงของเมลาโทนินในกระแสเลือด จึงพบว่า ผู้สูงอายุมักจะนอนหลับได้ยาก แต่ตื่นเช้ากว่าปกติ
ในขั้นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มีข้อปฏิบัติบางประการที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ ดังนี้
-
พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
-
หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ , เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น เป็นต้น
-
ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน กรณีที่มีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
-
เพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
-
กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอ ห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อยสามถึงสี่ชั่วโมง ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและย่อยง่ายเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ และรับประทานอาหารมื้อเย็นแต่พอดี ไม่อิ่มจนเกินไป
-
พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
-
ไม่ใช้เตียงเพื่อจุดประสงค์อื่น เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ รับประทานอาหาร (ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว)
-
ฝึกการทำสวดมนต์ นั่งสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ
ดังนั้น ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรทำความเข้าใจกับปัญหาที่เป็น “ ปกติ ” ในผู้สูงอายุ และพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หากอาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อค้นหาสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุต่อไป
อ้างอิงจาก :
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: