ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้าต้องทานยาอะไรดี
ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าวัยอื่นๆ ซึ่งเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย การรับประทานยาหลายชนิดที่อาจส่งผลกับภาวะอารมณ์ได้ การสูญเสียต่างๆ ไม่ว่าจะสูญเสียคนรัก หรือการออกจากงานที่เคยทำ
โดยอาการของโรคซึมเศร้าที่คนรอบข้างหรือผู้สูงอายุเองก็สามารถสังเกตตัวเองได้ในเบื้องต้น คือ รู้สึกเบื่อหน่าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง และอาจจะมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือรู้สึกไร้ค่า
หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคตได้ดังนี้คือ
1. หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว ออกไปพบปะหรือพูดคุยกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน
2. หางานอดิเรกทำ เช่น การออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
3. ไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ โดยแพทย์จะทำการประเมินสภาวะทางอารมณ์ ซึ่งในบางคนอาจจะได้รับการรักษาด้วยยาหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องปรับความเข้าใจก่อนว่าการไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติไม่ต้องอาย และโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้
การเลือกใช้ยาต้านโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุต้องประเมินปัจจัยหลายอย่าง โดยทั่วไปเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าจะอ้างอิงจากเกณฑ์ที่ชื่อว่า DSM IV TR (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision) ซึ่งจะประกอบด้วย 9 ข้อคือ
1. มีความรู้สึกเศร้าทั้งวัน หรือเศร้าทุกวัน
2. ขาดความสุขจากสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข
3. น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น
4. มีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากไปเกือบทุกวัน
5. เคลื่อนไหวช้า หรือมีอาการกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขเกือบทุกวัน
6. มีอาการอ่อนเพลีย
7. รู้สึกไร้ค่า
8. มีสมาธิลดลง
9. มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
หากมีอาการตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไปจากจำนวนทั้งสิ้น 9 ข้อข้างต้น และเป็นนานมากกว่า 2 สัปดาห์ จะถูกจัดว่ามีภาวะซึมเศร้า หรือ Major depressive disorder ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา โดยยาต้านซึมเศร้าในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มการออกฤทธิ์หลักๆ คือ
1. TCAs (Tricyclic Antidepressants) เช่นยา Amitriptyline
2. SSRIs (Selective Serotonin Re-uptake Inhibitors) เช่นยา Fluoxetine
3. SNRIs (Serotonin and Norepinephrine Re-uptake Inhibitors) เช่นยา Duloxetine
4. NRIs (Norepinephrine Re-uptake Inhibitors) เช่นยา Reboxetine
5. NDRIs (Norepinephrine-Dopamine Re-uptake Inhibitors) เช่นยา Bupropion เป็นต้น
เนื่องจากยาต้านซึมเศร้ามีอาการข้างเคียง หรือข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางโรค รวมทั้งยังอาจจะมีอันตรกิริยากับยาอื่นๆได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องเริ่มใช้ยาต้านซึมเศร้าแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและได้รับการประเมินการเริ่มยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
เอกสารอ้างอิง :
พญ. ดลฤดี เพชรสุวรรณ, รศ.นพ. มาโนช หล่อตระกูล. Depressive disorder: etiology and clinical feature. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. 2548.
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: