โบกมือลา ปัญหาการทรงตัว
เคยสังเกตไหมคะ ว่าคนใกล้ชิดหรือรุ่นใหญ่หลายๆ ท่าน มักมีอาการเซ ขณะเดิน ลุกขึ้น หรือแม้แต่ยืนอยู่เฉยๆ ก็มีอาการทรงตัวไม่อยู่ ไม่สามารถควบคุมหรือรักษาสมดุลของร่ายกายได้ อาการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือล้มได้ง่าย
ดังนั้นผู้สูงอายุควรหมั่นสังเกตประสิทธิภาพการทรงตัว อาการต่างๆ ว่าอยู่ในขั้นผิดปกติหรือไม่ และฝึกเสริมสร้างความสามารถในการทรงตัวของตนเองอย่างสม่ำเสมอ วันนี้เรามีวิธีฝึกการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ภายในบ้านของตนเอง มาฝากกันค่ะ
การทรงตัวในผู้สูงอายุ
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นผู้สูงอายุจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทรงตัว คือ สมองและไขสันหลังเสื่อมประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล ของระบบประสาทสัมผัส ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการตอบสนองเพื่อให้ได้การทรงตัวที่สมบูรณ์ อีกทั้งระบบการทรงตัวของหูชั้นในหรือในระบบหูก็เสื่อมสภาพลงไปด้วย รวมถึงปัญหาด้านสายตา ทำให้ผู้สูงวัยสับสน และเสียการทรงตัวได้ ทำให้หกล้มได้ง่าย
ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บตามส่วนต่างๆ ของร่างกายผู้สูงอายุ เช่น กระดูกหัก สมองกระทบกระเทือน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจผู้สูงอายุทำให้ไม่กล้าเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมต่างๆ เพราะกลัวการหกล้มซ้ำ บางคนถึงขณะเสียความมั่นใจแยกตัวออกจากสังคมไม่กล้าพบปะผู้อื่น
อาการ
ส่วนอาการที่บ่งชี้ว่ามีปัญหาเรื่องการทรงตัว ได้แก่ ขณะเดิน นั่ง หรือนอนแล้วลุกขึ้นยืนมีอาการเซ เดินไม่ค่อยมั่นคง สะดุดบ่อย ๆ หรือต้องเดินกางขา เพื่อช่วยในการทรงตัว ควบคุมการใช้กล้ามเนื้อในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลำบาก เช่น รับประทานอาหาร เขียนหนังสือ ถอดกระดุมเสื้อ หรือหยิบจับสิ่งของ พูดไม่ชัด ลักษณะการพูดเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงตากระตุก ดวงตามีการเคลื่อนไหวกลับไปกลับมา มองเห็นภาพไม่ชัด ตามัว สายตาแย่ลงจนมองหรืออ่านหนังสือได้ไม่ดี
วิธีฝึกการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ
การเสริมสร้างความสามารถในการทรงตัวสามารถฝึกได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ดังนี้
1.ฝึกเดินบนพื้นที่แคบ
คือการฝึกควบคุมการเดินไม่ให้ออกนอกพื้นที่นั้นๆ อาจใช้วิธีตีเส้นตรงลงบนพื้นหรือบริเวณลานหน้าบ้านของตนเอง ขนาดความกว้าง 2 นิ้ว ยาว 5 เมตร แล้วฝึกเดินตามเส้นนั้น โดยเริ่มเดินแบบช้าๆ ไม่ให้ออกมานอกเส้น แล้วค่อยเพิ่มความเร็วเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น และบันทึกเวลาเพื่อดูสถิติของตนเอง
2.ฝึกเดินบนท่อนไม้
เพิ่มความยากขึ้นมาอีกนิดด้วยการฝึกเดินบนท่อนไม้ โดยผู้สูงอายุต้องควบคุมไม่ให้ตัวเองตกลงมาจากท่อนไม้ ทั้งนี้ควรฝึกเดินอย่างระมัดระวังและเลือกใช้ท่อนไม้ที่มีความยาวพอสมควรและมีความสูงไม่มากจนเกินไป
3.ก้าวเท้าขึ้นบันได
ผู้สูงอายุทำได้โดยก้าวเท้าสลับไปมา เริ่มจากช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ หรือเพิ่มความยากโดยการเพิ่มความสูงของบันไดและลดความแคบของบันไดลง
4.นั่งชิงช้าหรือม้าหมุน
เชื่อไหมคะ ว่าการนั่งชิงช้าแกว่งไปมาหรือนั่งม้าหมุนเหมือนตอนเด็กๆ จะช่วยฝึกระบบเวสติบูลาร์ในหูชั้นในซึ่งมีผลกับการรับรู้ข้อมูลและท่าทางที่เกิดขึ้น โดยการเริ่มแกว่งชิงช้าอย่างช้าๆ และเพิ่มความเร็วขึ้นเมื่อมีความคุ้นเคย ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถฝึกการทรงตัวของผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบบ้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัย จัดข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการเดินชน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุจากการล้มได้อีกด้วย
การเสริมสร้างความสามารถในการทรงตัวนั้นเป็นสิ่งที่ดี และควรฝึกฝนด้วยความระมัดระวัง รวมถึงทำควบคู่กับการออกกำลังกาย เช่น รำไทเก็ก เดินเร็ว เต้นลีลาศ ยิ่งจะทำให้การทรงตัวของผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนใกล้ชิด ลูกหลาน หรือชักชวนเพื่อนฝูงมาฝึกฝนพร้อมกันได้ รับรองว่าดีต่อใจ รุ่นใหญ่แน่นอนค่ะ
สิ่งสำคัญคือผู้สูงอายุควรมีความมุ่งมั่นเอาใจใส่ในสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและอายุที่ยืนยาวนะคะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
#อาวุโสโซไซตี้ #เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง
Follow Line@: @happyseniorclub หรือ
Follow Facebook:
WebSite: