ห้องน้ำเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน ที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบ เนื่องจากเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เสี่ยงต่อการหกล้มจนได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดูกหัก แผลฟกช้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว รวมทั้งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ลำบากยิ่งขึ้น
วันนี้ เรามีไอเดียการออกแบบห้องน้ำและการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน สำหรับวัยเกษียณที่กำลังมีแพลนปรับปรุงห้องน้ำหรือสร้างใหม่ มาแบ่งปันกันค่ะ
ขนาดของห้องน้ำ
เริ่มต้นกันที่ขนาดของห้องน้ำที่เหมาะสม ควรมีความกว้าง 1.5 - 2 เมตร ในส่วนของประตูห้องน้ำ ควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร และเป็นบานเลื่อนหรือบานประตูเปิดออก ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินคนใกล้ชิดจะได้ช่วยเหลือได้ทัน ส่วนลูกบิดประตูควรเป็นแบบก้านโยกหรือเขาควาย เพราะไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อของนิ้วมือหรือแรงบิดมากนัก
พื้นภายในและภายนอกห้องน้ำ
พื้นภายในและภายนอกควรมีระดับเดียวกัน พื้นควรเรียบ ไม่มีธรณีประตูที่สามารถเดินหรือนั่งรถเข็นเข้าถึงได้ในทุกส่วน โดยปรับระดับพื้นให้ลาดเอียงต่อเนื่องไปยังท่อระบายน้ำ หรืออาจใช้รางระบายน้ำแบบยาววางตัวขนานไปกับแนวประตูเพื่อกันน้ำไหลย้อนออกมานอกห้อง
นอกจากนี้พื้นห้องน้ำควรใช้วัสดุประเภทที่มีผิวฝืด และมีค่าความฝืดที่เหมาะกับพื้นที่ส่วนเปียกและส่วนแห้ง อาจมีการเปลี่ยนสีหรือลายที่แตกต่างระหว่างโซนเปียก-โซนแห้ง เพื่อให้มองเห็นได้ชัด ป้องกันการลื่นล้มหรือสะดุดล้ม
การเลือกโถสุขภัณฑ์และที่กดชำระ
สำหรับโถสุขภัณฑ์ควรเลือกใช้รุ่นที่มีที่นั่งสูงจากพื้นประมาณ 43-45 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่ลุกนั่งได้อย่างสะดวก เมื่อใช้งานร่วมกับราวทรงตัว ส่วนที่กดชำระน้ำควรเลือกใช้เป็นแบบคันโยก สำหรับสายชำระควรติดตั้งไว้ด้านข้างให้มือเอื้อมหยิบใช้ได้ง่ายโดยไม่ต้องเอี้ยวตัวไปด้านหลัง และควรมีเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ รวมถึงฝักบัวอาบน้ำควรยึดกับก้านแบบจับเลื่อนขึ้นลงปรับระดับได้
ติดตั้งราวจับ
นอกจากนี้ ควรติดตั้งราวจับเพื่อช่วยในการพยุงตัวทั้งสองข้างของอ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ โดยสามารถเลือกใช้ราวทรงตัวรูปตัวแอลหรือราวทรงตัวแขนพับแบบสวิง รวมถึงควรมีราวจับที่ผนังนำทางไปจนถึงส่วนอาบน้ำ โดยติดตั้งให้สูงจากพื้น 60-75 เซนติเมตร และควรเลือกสีของราวจับให้แตกต่างจากสีของกระเบื้องผนังอย่างชัดเจน
วาล์วและก๊อกน้ำ
ส่วนของวาล์วเปิดปิดน้ำควรเลือกแบบก้านปัด รวมถึงก๊อกน้ำที่อ่างล้างหน้า เนื่องจากหัววาล์วแบบนี้ใช้งานง่ายและดูแลรักษาง่ายนั่นเอง
ส่วนอาบน้ำ
ควรมีเก้าอี้นั่งซึ่งอาจเป็นแบบที่มีสี่ขาเคลื่อนย้ายได้ หรือแบบที่พับเก็บได้ สิ่งสำคัญคือต้องวางตั้งได้อย่างมั่นคง ไม่ลื่น หรือยึดติดอย่างแน่นหนา
ส่วนของฝักบัวเป็นแบบปรับระดับได้ มีแรงดันต่ำ เลือกก๊อกแบบก้านโยก ติดตั้งในบริเวณที่ผู้สูงอายุไม่ต้องเอี้ยวหรือบิดตัวเพื่อใช้งาน และไม่ควรใช้กระจกกั้น ควรใช้ม่านกั้นอาบน้ำ และหลีกเลี่ยงการใช้อ่างอาบน้ำ
แสงสว่างเพียงพอ
สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของแสงสว่างที่เพียงพอ เพื่อจะได้หยิบจับของใช้ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก โดยเลือกใช้แสงสีขาวจะได้เห็นชัดเจนกว่าแสงสีอื่น ๆ
ถึงแม้วัยเกษียณจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม เช่น ปัญหาการทรงตัว โรคประจำตัว อย่างไรก็ตามการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะบริเวณห้องน้ำซึ่งต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้วัยเกษียณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
www.scgbuildingmaterials.com,
ขอบคุณภาพ
#อาวุโสโซไซตี้
#เพื่อนที่รู้ใจของรุ่นใหญ่ตัวจริง